การทำงาน ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

อาจารย์มหาวิทยาลัย

ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สมศักดิ์ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2537[10] โดยรับผิดชอบเป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และ ปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยอนุญาตให้ผู้มิได้ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นเข้ามานั่งเรียน หรือที่เรียกว่า "ซิทอิน" ได้เช่นเดียวกับอาจารย์หลายรายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่เคยขอตำแหน่งทางวิชาการใด ๆ ระหว่างที่รับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นที่รู้จักและการคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เป็นที่รู้จักในสาธารณะเป็นอย่างมาก ภายหลังที่สมศักดิ์ได้ร่วมเป็นผู้อภิปรายในรายงานเสวนาเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553[11] สมศักดิ์ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 8 ข้อ[12] โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่การต้องการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องการให้สถาบันมีความทันสมัยเหมือนราชวงศ์ในยุโรป โดยมีใจความว่า

  1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
  3. ยกเลิกองคมนตรี
  4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491
  5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
  6. ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา "ตุลาการภิวัฒน์" ฯลฯ)
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
  8. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

และเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 สมศักดิ์ได้แถลงข่าวถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์ได้ร่วมอภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553[13] พร้อมกันนั้นนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์กรณีการคุกคาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชน หยุดการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาป้ายสีบุคคลต่าง ๆ[14]

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สมศักดิ์เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีคนร้ายสองคนบุกเข้ามายิงปืน และขว้างอิฐใส่รถ และบ้านพักของตน ขณะที่เขาอยู่ภายในบ้าน และต่อหน้าเพื่อนบ้านหลายคนด้วย[15]

ลี้ภัย

หลังจากมีการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สมศักดิ์เป็นบุคคลหนึ่ง ที่คณะรัฐประหาร ออกคำสั่งที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม และคำสั่งที่ 65/2557 ลงวันที่ 13 มิถุนายน เพื่อเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกหมายจับ[16][17][18] เขาเงียบหายจากสังคมไปราวครึ่งปี จนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สมศักดิ์กลับมาเผยแพร่ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ นับแต่มีผู้บุกลอบยิงถึงบ้านพัก[19]

แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 356/2558 ลงโทษไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ แม้เขาจะยื่นหนังสือขอลาราชการแล้ว แต่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ไม่อนุมัติ ทั้งยังมอบหมายให้ทำการสอน ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 และยังแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วนอีก แม้ต่อมาเขาจะยื่นหนังสือ ขอลาออกจากราชการแล้วก็ตาม แต่กลับยังคงได้รับการเพิกเฉย จึงกลับกลายเป็นว่า สมศักดิ์จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อธิการบดีจึงอ้างเหตุนี้มาลงโทษดังกล่าว[20] แต่ปัจจุบันคำสั่งไล่ออกจากราชการได้ถูกศาลปกครองยกฟ้องแล้ว[21]

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 สมศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul ในลักษณะสาธารณะ เมื่อเวลา 10.42 น. ว่า ผมเพิ่งได้ข้อความนี้จากครอบครัวทางเมืองไทย "แม่โทรมาบอกว่า มีทหาร 4 คน ขี่มอเตอร์ไซด์ 2 คัน มาหน้าบ้าน แล้วมีคนหนึ่งถ่ายรูปในบ้าน แม่ถามว่ามาหาใคร ก็ไม่พูดอะไร ถ่ายแล้วไป ถามก็ไม่พูด" และสมศักดิ์ได้ตั้งคำถามต่อว่าไม่ได้อยู่บ้านแม่กว่า 20 ปีแล้ว และตอนนี้น่าจะรู้แล้วว่าอยู่ประเทศไหน จะไปรบกวนคนไม่เกี่ยวข้องทำไม[22]

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าสมศักดิ์ถูกส่งโรงพยาบาลหลังจากล้มลง โดยคาดว่าเส้นเลือดในสมองแตกทำให้ร่างกายซีกขวายังขยับไม่ได้ และคาดว่าต้องมีการกายภาพบำบัดและย้ายไปรับการรักษาพยาบาลที่อื่น[23]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 สมศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันยังลี้ภัยและรักษาอาการโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในต่างประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul ในการถ่ายทอดสดการเสวนาผ่านเพจ Textbooks Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ เป็นครั้งแรกที่เขาแสดงความเห็นออนไลน์หลังว่างเว้นไปหลายเดือน เพื่อนเขาเขียนว่า เขาฝึกใช้มือซ้ายแทนมาหลายเดือนแล้ว[24]

ใกล้เคียง

สมศักดิ์ เทพสุทิน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ สมศักดิ์ ศิษย์ชัชวาลย์ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ สมศักดิ์ ชัยสงคราม สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต สมศักดิ์ ขวัญแก้ว สมศักดิ์ พรนารายณ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล http://botkwamdee.blogspot.com/2014/02/sy-112low.h... http://somsakcoup.blogspot.com http://somsakfootnotes.blogspot.com http://somsakj.blogspot.com http://www.enlightened-jurists.com/video/tag/%E0%B... http://www.noknight.com/data_files/art_palom.htm. http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&fi... http://www.posttoday.com/%E0%B8%AD-%E0%B8%AA%E0%B8... http://prachatai.com/journal/2009/08/25380. http://prachatai.com/journal/2009/08/25401.